วัตถุในพิพิธภัณฑ์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

Object-based Learning

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดแสดงและเก็บรักษาโบราณวัตถุประเภทข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รวมไปถึงสิ่งของในรัชสมัยและสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ท่าน วัตถุเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และเรื่องราวของบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการ เรียนรู้โดยใช้วัตถุเป็นสื่อหลัก (Object-based Learning) ทางพิพิธภัณฑ์ฯ จึงมีการเผยแพร่เรื่องราวและนำเสนอวัตถุผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นิทรรศการถาวร นิทรรศการหมุนเวียน การถ่ายภาพวัตถุ 3 มิติ และสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการศึกษาค้นคว้า
นิทรรศการนี้ได้รวบรวมที่มาและความสำคัญของโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ทำความรู้จักและเรียนรู้เรื่องราวของวัตถุจัดแสดงในมุมมองที่แตกต่างออกไปและพบกับวัตถุที่ยังไม่เคยจัดแสดงมาก่อน

พิพิธภัณฑ์กับวัตถุ

ตามความหมายดั่งเดิมของคำว่า พิพิธภัณฑ์ มุ่งเน้นที่การเก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ แต่ในศตวรรษที่ 21 ความหมายของพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมโลก ดังที่ International Committee of Museum หรือ ICOM ได้ให้ความหมายของพิพิธภัณฑ์ไว้เมื่อค.ศ. 2007 ซึ่งมีการกล่าวถึงมรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ส่งผลให้การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มีรูปแบบที่หลากหลายและเข้าถึงในเรื่องที่มีความท้าทายในการสื่อสารได้มากยิ่งขึ้น

“A museum is a non-profit, permanent institution in the service of society and its development, open to the public, which acquires, conserves, researches, communicates and exhibits the tangible and intangible heritage of humanity and its environment for the purposes of education, study and enjoyment.”

พิพิธภัณฑ์เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรและยืนหยัดในการให้บริการแก่สาธารณะและการพัฒนาองค์กร เพื่อจัดหา รักษา วิจัย สื่อสาร และจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ทั้งในรูปแบบที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ รวมถึงเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการศึกษาเรียนรู้และความเพลิดเพลิน

แต่เนื่องด้วยพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ และมีวัตถุจำนวนมาก จึงใช้การเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลและวัตถุเป็นหลัก เพื่อให้สามารถนำเสนอได้ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เน้นการเรียนรู้ผ่านวัตถุจัดแสดง (Object-based Learning)

Object-based
Learning

การเรียนรู้ผ่านวัตถุจัดแสดง

การเรียนรู้ผ่านวัตถุจัดแสดง คือ การศึกษาเรื่องราวจากสิ่งของ/วัตถุจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพหรือข้อมูลที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกเบื้องหลังของวัตถุ ทั้งลักษณะการใช้งาน ขั้นตอนการผลิต วัสดุ เจ้าของ ผู้ใช้ หรือการเดินทางของวัตถุ เป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ของผู้เข้าชมผ่านผัสสะ โดยเฉพาะในการศึกษาประวัติศาสตร์ วัตถุมีส่วนช่วยให้ การเรียนรู้เรื่องราวในอดีตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากตัววัตถุเองคือสิ่งที่บรรจุข้อมูลและเรื่องเล่าของเจ้าของ/ผู้ใช้งาน
การใช้งาน เหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทำให้อดีตกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดตั้งโครงการอนุรักษ์และขยายความโบราณวัตถุพิพิธภัณฑ์ฯ และดำเนิน งานมาอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมสำคัญ คือ การศึกษาค้นคว้าที่มา/ประวัติของวัตถุแต่ละชิ้นในพิพิธภัณฑ์ฯ เก็บไว้เป็นข้อมูล
อย่างสั้นสำหรับการทำความรู้จักกับวัตถุ

นอกจากนี้ ยังมีการขยายความโบราณวัตถุ คือ การศึกษาค้นคว้าข้อมูลเชิงลึกในแง่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ การผลิตการใช้งาน และเครื่องหมายการค้า เป็นต้น สำหรับการศึกษาและนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดแสดงหรือนิทรรศการในอนาคต